6/08/2007

ลุ่มน้ำโขง: เชื่อมสายใยวัฒนธรรม

โครงการจัดงานเทศกาลวิถีชีวิตชาวบ้าน
“ลุ่มน้ำโขง: เชื่อมสายใยวัฒนธรรม”

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) ได้รับเชิญจากศูนย์วิถีชีวิตชาวบ้านและมรดกทางวัฒนธรรม สถาบันสมิธโซเนียนให้เป็นเจ้าภาพร่วมกับอีก ๔ ประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ในการจัดงานเทศกาลวิถีชีวิตชาวบ้าน (Smithsonian Folk Life Festival 2007) ในหัวข้อเรื่อง ลุ่มน้ำโขง: เชื่อมสายใยวัฒนธรรม (Mekong River: Connecting Culture) ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงวอชิงตัน ดี ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ ๒๗ มิถุนายนถึง ๑ กรกฎาคม และ วันที่ ๔ – ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๐
เทศกาลวิถีชีวิตชาวบ้าน (Smithsonian Folklife Festival) เป็นเทศกาลประจำปีของสถาบันสมิธโซเนียน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๖ และจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูร้อน ณ บริเวณสนามกลางแจ้งบริเวณ National Mall ลักษณะพิเศษของการจัดเทศกาลนี้ อยู่ที่การยึดหลักแนวคิดเรื่องพิพิธภัณฑ์มีชีวิต การนำเสนอเนื้อหาต่างๆ ของเทศกาลจึงเน้นการส่งผ่านความรู้ระหว่างเจ้าของวัฒนธรรมและผู้เข้าชมเทศกาล โดยมุ่งเน้นให้กลุ่มคนในวัฒนธรรมต่างๆ เป็นผู้บอกเล่าวิถีชีวิตด้วยตัวของเขาเอง เทศกาลจึงเป็นพื้นที่สื่อกลางให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในและคนนอกวัฒนธรรม มีการจัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้ผู้เข้าชมสามารถสัมผัส ซักถาม มีส่วนร่วมลงมือทำ และเรียนรู้ชีวิตของชาวบ้านผ่านงานฝีมือและการจัดแสดงทางวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้เข้าชมรู้สึกเข้าใจวิถีชีวิต และมีท่าทีที่จะเคารพศักดิ์ศรีของเจ้าของวัฒนธรรมนั้น
เพื่อสร้างให้เกิดความเข้าใจวิถีชีวิตของคนที่อาศัยในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง จึงได้มีการเตรียมงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบัน โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์ (The Rockefeller Foundation) ให้ดำเนินการจัดประชุมระดมความคิดจากตัวแทนของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงในเดือนตุลาคม ๒๕๔๗ จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติให้แก่นักวิจัยประเทศต่างๆ ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประเทศละ ๑๕ วัน ในช่วงธันวาคม ๒๕๔๘ ถึงมกราคม ๒๕๔๙ ตลอดจนการทำวิจัย การเก็บข้อมูล และการคัดเลือกประเด็นต่างๆ และตัวบุคคลที่จะมานำเสนอในเทศกาล
ในวันที่ ๑๘ - ๑๙ มกราคม ๒๕๕๐ ศูนย์ฯ ได้จัดประชุม Country Review กับเจ้าหน้าที่ของสมิธโซเนียนเพื่อสรุปข้อมูลเกี่ยวกับงานช่าง การแสดง และตัวบุคคลทั้งหมดที่ประเทศไทยจะนำไปเสนอ โดยประเทศไทยจะนำงานช่าง ๑๒ กลุ่มไปสาธิต และนำการแสดง ๖ ประเภทไปแสดง
นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดอบรมผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นพรีเซนเตอร์ เพื่อช่วยเป็นสื่อกลางในการสื่อสารภาษาอังกฤษระหว่างช่างและนักแสดงกับผู้ชมงานชาวสหรัฐ โดยจัดขึ้นในวันที่ ๘ – ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๐ ที่ Museum of Ethnology ฮานอย ประเทศเวียดนาม ในระหว่างนั้น ยังได้มีการจัดเทศกาลขนาดเล็ก (Mini Festival) ในหัวข้อ “งานไม้ไผ่ในลุ่มแม่น้ำโขง” ด้วย โดยให้ทั้ง ๕ ประเทศนำงานช่างที่เป็นไม้ไผ่ไปสาธิตด้วย ในส่วนของประเทศไทย ได้นำช่าง ๒ คนจากบ้านค้อใต้ จ.อุบลราชธานี ไปสาธิตและบอกเล่าเกี่ยวกับการสานตุ้มจับปลากระทรวงวัฒนธรรมได้เล็งเห็นความสำคัญในการจัดแสดง และสื่อสารให้ผู้ร่วมชมเทศกาลชาวสหรัฐให้เข้าใจ เรียนรู้ และสร้างให้เกิดท่าทีในการเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผ่านชีวิตการทำงานของชาวบ้านในลุ่มน้ำโขง จึงได้อนุมัติเงินสนับสนุนในส่วนของการนำคณะชาวบ้านเดินทางไปนำเสนอวัฒนธรรมในงานเทศกาลเดือนมิถุนายน 2550 นี้

No comments: